ฝุ่นละออง (Particulate Matter) คืออะไร ?
ฝุ่นละอองคือสารแขวนลอยในบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมของตัวเรา ซึ่งโดยปกติอากาศรอบตัวเรามักจะถูกปะปนด้วยสารประกอบต่าง ๆ เช่น สารโลหะหนัก สารเคมี ฝุ่นดิน ขี้ผง และอื่น ๆ ซึ่งความอันตรายของสารพวกนี้นอกจากจะอันตรายตาชนิดของมันแล้วยังขึ้นอยู่กับระดับปริมาณของมันในอากาศอีกด้วยค่ะ
PM 2.5 คืออะไรแล้วมันใช่ฝุ่นไหม?
PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5 ส่วนตัวเลข 2.5 นั้นมาจากหน่วย 2.5 ไมครอนหรือไมโครเมตรนั่นเอง ซึ่งถ้าให้อธิบายโดยง่าย PM2.5 จัดเป็นฝุ่นประเภทหนึ่งที่มีความละเอียดถึงขั้นที่เราไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าเห็นเนื่องจาก มันเป็นฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่าง ๆ แต่เมื่อมาแผ่อยู่รวมกันในปริมาณมากก็จะกินพื้นที่ในอากาศมหาศาล เกิดเป็นหมอกควันอย่างที่เราเห็นกันค่ะ
ทำไม PM 2.5 ถึงอันตรายล่ะ?
ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญและออกมาแจ้งเตือนให้ทราบ เพราะเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก ไม่มีสีหรือกลิ่น แถมเส้นผมที่ว่ามีขนาดเล็กแล้วฝุ่น PM 2.5 ยังเล็กกว่าเส้นผมถึง 20 เท่า ทำให้เล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ปอด และหลอดเลือดได้ง่าย ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว โดยสามารถกระตุ้นให้เกิดภัยร้ายต่อร่างกายได้ เช่น สามารถกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระได้, ลดระบบแอนตี้ออกซิแดนท์, รบกวนสมดุลต่าง ๆ ของร่างกาย และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบ ซึ่งมีอันตรายต่อเนื้อเยื่อในร่างกายของเรามาก ทำให้ในระยะยาวสามารถก่อให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, โรคถุงลมโป่งพองแม้จะไม่สูบบุหรี่, มะเร็งปอด, โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และอื่น ๆ
PM2.5 VS PM10
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้นเกี่ยวกับ PM2.5 ทีนี้ เราจะมาอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ PM10 ซึ่งถือเป็นฝุ่นที่อันตรายมากเช่นกัน แต่คนส่วนใหญ่มักได้ยินเกี่ยวกับ PM2.5 บ่อยกว่า PM10 คือฝุ่นระอองขนาดเล็กที่มี เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมครอน ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า PM2.5 แต่มีแหล่งกำเนิดที่เดียวกันก็คือ รถยนต์, การเผาหญ้า/ขยะ/ไฟไหม้, อุตสาหกรรมต่าง ๆ และ กิจกรรมในครัวเรือนโดยทั่วไป เป็นต้น ซึ่ง PM 10 นี้มักจะถูกสะสมในร่างการในส่วนของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง แต่จะไม่แพร่กระจายไปตามหลอดเลือดเหมือน PM2.5 เนื่องจากมีขนาดที่ใหญ่กว่า ดังนั้นเมื่อสะสมเป็นเวลานานก็สามารถก่อโรคหอบหืด และโรงติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่างได้
จะป้องกันเจ้าฝุ่นร้ายนี้ยังไงดี ?
เราสามารถป้องกันฝุ่นร้ายเหล่านี้ได้ด้วยการใส่หน้ากากป้องกันชนิดต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ
1.หน้ากากอนามัยชนิดที่ผ่านมาตรฐาน N95
หน้ากากอนามัยชนิดนี้คือหน้ากากที่ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับว่าสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ดีที่สุด เพราะป้องกันได้ทั้งฝุ่นละอองและเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กถึง 0.3 ไมครอน เหมาะสำหรับป้องกันมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 ควันพิษ ไอเสียรถยนต์ และไอระเหยของสารเคมีต่าง ๆ
2.หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ3ชั้น
เรียกอีกอย่างคือ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ซึ่งปกติเป็นแบบที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย หาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อและร้านขายยาทั่วไป เน้นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคจากการไอหรือจามจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราได้ แต่หากเป็นเชื้อไวรัสซึ่งมีอนุภาคเล็กระดับไมครอน อาจไม่สามารถป้องกันได้ จึงไม่เพียงพอหากต้องการป้องกันฝุ่น PM 2.5 และควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่แนะนำให้ใช้ซ้ำค่ะ
3.หน้ากากอนามัยแบบผ้าฝ้าย
ระดับความป้องกันไม่แตกต่างจากหน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ เน้นการป้องกันการกระจายของน้ำมูกหรือน้ำลายจากการไอจาม สามารถป้องกันฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 ไมครอนขึ้นไป จึงไม่เหมาะกับการป้องกันฝุ่น PM 2.5 แต่มีข้อดี คือ ประหยัด สามารถนำไปซักกับน้ำยาฆ่าเชื้อโรคแล้วนำลับมาใช้ใหม่ได้ค่ะ
โดยสรุปแล้วนั้นแม้ว่าเราจะใส่หน้ากากป้องกันตามที่แอดได้แนะนำมาแต่เราก็สามารถกันฝุ่นเหล่านี้ได้แค่บางส่วนเท่านั้นนะคะ ดังนั้นการที่จะช่วยป้องกันเราจากฝุ่นได้ดีมากขึ้น คือเราควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือเดินทางไปในพื้นที่ที่มีมลพิษสูงร่วมด้วยค่ะ
อ้างอิงรูปภาพและขอบคุณข้อมูลจาก
1.กรมควบคุมมลพิษ http://www.pcd.go.th/info_serv/air_pm25.html
2.HONESTDOCS
https://www.honestdocs.co/pm-2-5-environmental-nano-polluta…