วันนี้ทางบริษัทฯ จะนำบทความที่ชี้แจ้งให้เห็นถึงอันตรายของเสียงและสาเหตุว่าทำไมเราจึงควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการได้ยินต่างๆ ระหว่างการทำงานในที่ที่มีเสียงดังเป็นระยะเวลาติดต่อกันนานๆ ไม่ว่าจะเป็น ที่อุดหูลดเสียง หรือในอีกชื่อคือเอียปลั๊ก (Ear Plug) และที่ครอบหูลดเสียงหรือในอีกชื่อคือเอียมัฟ (Ear Muff) ไม่ว่าจะรูปทรงไหน การออกแบบใด วัสดุซิลิโคนหรือวัสดุโฟมธรรมดา ล้วนแล้วแต่สำคัญและช่วยยืดอายุการทำงานของหูและการได้ยินของผู้ใช้งานด้วยกันทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย ดังนั้น บทความนี้จะเริ่มต้นที่ว่า “เสียงมีอันตรายอย่างไร”
เสียงมีอันตรายอย่างไร
หูเรานั้นสามารถรับฟังเสียงได้ตั้งแต่ความถี่ 20 เฮิรตซ์ ถึง 20,000 เฮิรตซ์ แต่ช่วงความถี่ของเสียงที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันมาก คือ ช่วงความถี่ของเสียงพูดหรือความถี่ 500 -2,000 เฮิรตซ์ นอกจากนี้หูยังมีความสามารถและอดทนในการรับฟังเสียงในขอบเขต จำกัด หากเสียงเบาเกินไปก็จะไม่ได้ยิน แต่ถ้าเสียงดังเกินไปก็จะทำอันตรายต่อหูหรือมีอาการปวดหู
พนักงานส่วนใหญ่ จะไม่มีความรู้ เกี่ยวกับอันตรายอันเกิดจากความดังของเสียงที่ระดับต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ยินอยู่ทุกวัน ทั้งจากที่ทำงานและจากสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป ทั้งที่จริง ๆแล้วอันตรายที่เกิดจากเสียงดังนั้นเป็นเหมือนภัยเงียบที่เป็นอันตรายและสามารถกระทบต่อการทำงานอย่างอื่นและการดำเนินชีวิตได้ การรับฟังเสียงที่ดังเป็นเวลานานอาจะนำไปสู่การสูญเสียการได้ยิน (noise – induced hearing loss(NIHL)) ซึ่งเสียงดังที่ฟังนาน ๆ จะค่อย ๆ ทำลายการได้ยิน สะสมไปเรื่อย ๆ กว่าจะรู้ ก็สูญเสียความสามารถในการได้ยินไปอย่างถาวร และไม่สามารถแก้ไขหรือรักษาได้ อย่างไรก็ตามถ้าได้รับการศึกษาอย่างถูกต้องและป้องกันอย่างถูกวิธีก็จะสามารถป้องกันอันตรายเหล่านั้นได้
การสูญเสียการได้ยิน แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
- การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว (Temporary Threshold Shift, TTS) จะเกิดขึ้นจากการรับฟังเสียงดังเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เซลล์ขนซึ่งอยู่ในหูชั้นในกระทบกระเทือนไม่สามารถทำงานได้ชั่วคราว และเซลล์ขนจะกลับสู่สภาพเดิมได้หลังสิ้นสุดการรับฟังเสียงดังเป็นเวลาประมาณ 14-16 ชั่วโมง
- การสูญเสียการได้ยินแบบถาวร (Noise-Induced Permanent Threshold Shift, NIPTS) เกิดจากการทำรับฟังเสียงดังเป็นเวลานานและสะสมจนทำให้หูชั้นในเหนื่อยล้า บ่อย ๆ นาน ๆ จึงนำไปสู่การสูญเสียการได้ยินแบบถาวร ซึ่งไม่สามารถทำการรักษาให้การได้ยินกลับคืนสภาพเดิมได้
ข้อกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรม
ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุไว้ว่าหากกิจกรรมที่กระทำมีเสียงดังเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ จะต้องมีการติดป้ายแจ้งเตือนและควรสวมใส่ อุปกรณ์ลดเสียง
โดยปกติเราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับระดับเสียงด้วยว่าการได้ยินเสียงต่างๆนั้นมีความดังอยู่ที่ระดับกี่เดซิเบล เช่น เสียงปืน มีระดับเดซิเบลอยู่ที่ 162 dB ,เสียงบีบแตร มีระดับเดซิเบลอยู่ที่ 143 dB, เสียงเครื่องยนต์ทั่วไป มีระดับเดซิเบลอยู่ที่ 90-100 dB และ เสียงเครื่องกลึง หรือ เสียงสนทนาปกติ มีระดับเดซิเบลอยู่ที่ 81 หรือ 60 dB เป็นต้น โดยเบื้องต้นเราควรจำให้ได้ว่าเสียงเกินกว่า 85 เดซิเบลคือระดับเสียงที่ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันการได้ยินแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ที่อุดหู หรือที่ครอบหูก็ตาม เนื่องจากถ้าอยู่ในระยะเวลานานอาจเกิดอันตรายได้
ควรป้องกันแค่ไหนดี ?
ตารางด้านล่างนี้ บ่งชี้ถึงระดับของการป้องกันที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของความดังต่าง ๆ ซึ่งอิงกับค่า SNR หรือ NRR ที่เปรียบเทียบกับการป้องกันโดยอุปกรณ์ป้องกันระบบ การได้ยิน
ค่าความดังเป็นแบบหน่วย dB: | การเลือกอุปกรณ์ป้องกันที่มีค่าเป็น SNR/NRR: |
85 – 90 | 20 หรือต่ำกว่า |
90 – 95 | 20 – 30 |
95 – 100 | 25 – 35 |
100 – 105 | 30 หรือมากกว่า |
หมายเหตุ:
NRR (Noise Reduction) ใช้สำหรับ USA
SNR (Single Number Rating) ใช้สำหรับ European Union
SLC (Sound Level Conversion) ใช้สำหรับ Australia และ New Zealand
การเลือกวัสดุของที่อุดหู ควรเลือกอย่างไร ?
ที่อุดหู โดยส่วนใหญ่จะมีวัสดุหลักๆ อยู่ 3 ประเภท
1.โฟม : เหมาะแก่การใช้งานแล้วทิ้งในแต่ละวัน สามารถบีบให้พอดีกับช่องหู สอดเข้าไปและตัวที่อุดหูจะค่อยๆพองจนพอดีกับช่องหู จะช่วยลดการได้ยินเสียงได้โดยค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ NRR 30dB ข้อเสียคือไม่ควรใช้ซ้ำ เนื่องจากสกปรกง่ายและล้างทำความสะอาดไม่ค่อยได้เพราะจะลดประสิทธิภาพการทำงาน ข้อดี ราคาถูก และหาซื้อง่าย
2.ขี้ผึ้ง หรือยางปั้นเป็นก้อน : เหมาะแก่การใช้งานโดยทั่วไปแต่จะใช้งานยากสำหรับการใช้งานระหว่างวันเพราะต้องค่อยปั้นให้พอดีช่องหูถอดเข้า-ออกไม่สะดวก รวมถึงทำหายได้ง่าย
3.ซิลิโคน : ราคาจะสูงกว่าประเภทอื่นๆ แต่สามารถใช้งานซ้ำได้ รวมถึงล้างทำความสะอาดได้จึงนิยมใช้เป็นวงกว้าง เหมาะแก่การใช้งานระยะยาวเนื่องจากมีความนุ่มและไม่ทำให้เจ็บช่องหู
นอกจากนี้ยังมีรูปทรงที่ผลิตแตกต่างกันไป เช่นทรงต้นสน ทรงจรวด ทรงระฆัง ทรงตัวที และอื่นๆ ซึ่งจะเหมาะแก่รูปหู/ช่องหูของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไปแล้วแต่เลือกใช้ค่ะ