เครื่อง AED คืออะไร
เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator, AED) เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาชนิดหนึ่ง สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยอัตโนมัติ และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้อง
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รณรงค์อย่างต่อเนื่องถึงการเรียนรู้ขั้นตอนของห่วงโซ่การรอดชีวิต เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการกู้ชีพให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน หัวใจ หยุดเต้นฉียบพลันนอกโรงพยาบาล โดยสิ่งที่สำคัญของกระบวนการกู้ชีพ คือ การใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED ซึ่ง ขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ด้วยเพราะข้อจำกัดหลายประการ อาทิ อุปกรณ์ดังกล่าวมีราคาสูง แต่ถือเป็นโอกาสอันดีที่ สพฉ. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเอกชนจากหลายองค์กร บริจาคเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ จำนวนหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนต่อไป สพฉ. จะนำเครื่องดังกล่าวไปติดตั้งให้กับหน่วยงานและพื้นที่สาธารณะต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพื่อรณรงค์ให้มีการติดตั้งเครื่องAED ในที่สาธารณะ ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันของผู้มาใช้บริการ
ทำไมเราต้องมีเครื่อง AED ในทุกที่
เมื่อมีผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น หรือหยุดหายใจ สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุดคือการกู้ชีพให้ฟื้นคืนมา ทั้งการเต้นของหัวใจและการคืนลมหายใจอีกครั้ง ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วพบว่าผู้ป่วยต้องการการกู้ชีพโดยการกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า การกระตุ้นหัวใจทันทีจะมีโอกาสรอดมากถึง 90% และถ้าหากเวลาที่ช่วยเหลือช้าลงทุก ๆ 1 นาที จะลดโอกาสรอดลงไปทีละ 10% ดังนั้นจึงควรจะช่วยเหลือผู้ป่วยภายในเวลา 4 นาที ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2558 คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจึงได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้การใช้เครื่อง AED เป็นหนึ่งในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทุกคนสามารถทำการช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินได้ แม้ว่าจะไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ก็ตาม
เครื่อง AED มีประโยนช์อย่างไร?
เครื่อง AED ออกแบบมาเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย จากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือกรณีที่ไม่มีคนทำ CPR ได้ ซึ่งอุปกรณ์นี้จะวินิจฉัยการเต้นของหัวใจ และจะไปกระตุกหัวใจให้กลับมาเต้นเป็นปกติ ด้วยไฟฟ้ากระแสตรง การใช้งานเพียงทำตามขั้นตอนที่บอกไว้ ให้ถูกต้อง และรัดกุม
เครื่อง AED สามารถช่วยแก้ไขภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ผู้ประสบเหตุไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการแพทย์มาก่อน เพียงทำตามขั้นตอนให้รวดเร็ว และรัดกุม โดยวางแผ่นโลหะทะแยงกลางหน้าอก เพื่อที่กระแสไฟฟ้าจะเข้าไปกระตุกหัวใจ ได้ในทิศทางที่ถูกต้อง
เราใช้เครื่อง AED ในสถานการณ์ใด
แม้ว่าเครื่อง AED จะสามารถเพิ่มโอกาสรอดของผู้ป่วยได้มากกว่า 50% แต่เราก็ควรจะใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นในกรณีดังต่อไปนี้
ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง แม้ว่าจะเขย่าตัวหรือเรียกชื่อ
ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก หรือเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจที่ไม่รู้สึกตัว หรือเข้าข่ายว่ามีอาการของโรคหัวใจกำเริบ และหมดสติ
ผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุจากการถูกไฟฟ้าช็อก และหมดสติ
จาก 3 กรณีข้างต้น จึงจะเห็นว่าเครื่อง AED จะใช้ในผู้ป่วยที่หมดสติ หรือไม่รู้ตัว มีข้อบ่งชี้ถึงโรคหัวใจ หรือจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น หรือหยุดหายใจกะทันหัน หากมีอาการดังกล่าว ควรจะรีบเข้าช่วยเหลือโดยเร่งด่วนภายใน 4 นาที เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยฟื้นคืนชีวิตได้อีกครั้งหนึ่ง
วิธีการใช้เครื่อง AED อย่างถูกต้อง
ก่อนที่จะเริ่มใช้เครื่อง AED เราจะต้องดูผู้ป่วยก่อนว่าสามารถใช้ได้หรือไม่ โดยผู้ป่วยต้องมีอายุตั้งแต่ 8 ขวบ และมีน้ำหนักมากกว่า 25 กิโลกรัมขึ้นไป เมื่อคาดการณ์อายุและน้ำหนักของผู้ป่วยแล้วว่าสามารถใช้เครื่อง AED ได้ ก็ให้ทำการโทร 1669 และเตรียมความพร้อมเครื่อง AED ทันที
- ขั้นตอนที่ 1 : เปิดเครื่อง AED ขึ้นมา หลังจากนั้นทำตามขั้นตอนตามที่เครื่องอธิบาย
- ขั้นตอนที่ 2 : ถอดเสื้อและแปะแผ่นตามแนวทิศทางของหัวใจ *โดยปกติแล้วแผ่นแปะทั้ง 2 ชิ้นจะมีภาพบอกไว้อย่างชัดเจนว่าต้องนำไปแปะไว้ส่วนไหนของร่างกาย*
- ขั้นตอนที่ 3 : นำสายของแผ่นอิเล็กโทรดเชื่อมต่อเข้ากับเครื่อง AED
- ขั้นตอนที่ 4 : รอให้เครื่องทำการประเมิณการเต้นของหัวใจ
- ผู้ช่วยเหลือจะต้องไม่สัมผัสกับผู้ป่วย
- ถ้าหากเครื่องพูดคำว่า ‘เคลียร์’ หรือ ‘แนะนำให้ทำการช็อค’ นั่นหมายความว่าการทำงานของหัวใจผิดปกติ สามารถกดช็อคไฟฟ้าได้
- ขั้นตอนที่ 5 : ถอยหลังออกมาจากผู้ป่วย จากนั้นกดช็อค
- ขั้นตอนที่ 6 : หลังจากเครื่องช็อคแล้วให้ทำการ CPR ต่อทันที